ผมแอบคิด “ชั่ว” เล็กน้อยหลังเห็น line up คริสติอาโน่ โรนัลโด้ ถูกจับนั่งสำรอง ก่อนเกมบิ๊กแมทช์ เชลซี vs แมนฯยูไนเต็ด ว่า ราล์ฟ รังนิค “ว่าที่” กุนซือใหม่อาจเป็นคนสายตรงสั่งการอยู่เบื้องหลัง เพื่อที่จะใช้แท็คติกส์ “เพรสสูง” ตั้งแต่แดนบนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจนกระทั่งผมมาเห็นข่าว (หลังจบเกม) ว่า แกรี่ เนวิลล์ เองก็คิดแบบเดียวกับผม เนวิลล์ ตั้งข้อสังเกตว่าเขาใช้เวลาแค่ 1 นาทีก็สัมผัสได้ทันทีว่าสไตล์การเล่นไม่เหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม แกรี่ ลินิเกอร์ อดีตกองหน้าทีมชาติ อังกฤษ และกูรู “รีทวิต” ด้วยแคปชั่นสั้นๆว่า “ไม่มีทางเป็นเรื่องจริง ศูนย์” ครับ เป็นแค่เรื่องชวนสงสัยเพราะไหนๆ รังนิค จ่อเปิดตัวในไม่ช้า ขี้หมูขี้หมาก็ต้องมีการสอบถามขอคำแนะนำเพราะลำพัง ไมเคิ่ล คาร์ริค ต่อให้อยู่ในฐานะรักษาการแต่คงไม่กล้าหั่นแข้งเบอร์ 1 ของโลกที่แบกสถิติยิง 10 จาก 14 เกมทุกรายการในเกมสำคัญเช่นนี้ การตัดสินใจที่ต้องใช้ความ “บ้าบิ่น” มากกว่าปกติในเกมบิ๊กแมทช์กับคนมีอิทธิพลอย่าง “โรนัลโด้” มันให้น้ำหนักไปที่พวกชั่วโมงบินสูงๆมากกว่า ผมอาจดูหนังฆาตกรรมมากไปจนเพี้ยนเอง อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกันเลยก็ได้แต่มาว่ากันด้วย facts เราจะเห็นได้ว่าการเพรสสูงของ “ปีศาจแดง” ไม่ต่างอะไรกับเกมแดงเดือด แต่เล่นแบบนี้อยู่ราวๆ 10 นาทีก็กลับมารับในแดนตัวเองตามเดิมเพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าการ “เพรส” เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมันต้องพร้อมเพรียงกัน หาไม่แล้วก็เหนื่อยฟรี ที่เราเห็นมีแค่ 3 ตัวบน (ไม่ใช่หวย) ที่ไล่อย่างหนัก ตรงกันข้ามแดนกลางเข้าหาบอลราวกับ “เทเลทัปปี้” แล้วคุณไม่รู้เหรอครับว่า เชลซี แกะเพรสเก่งแค่ไหน การเล่นของ โธมัส ทูเคิ่ล ครอบครองบอลระดับ “เดอะ มาสเตอร์” และเจอของหนักของแข็งกว่าที่ ยูไนเต็ด ทำอยู่หลายเท่า สไตล์ของนักเตะมีส่วนสำคัญมาก คุณให้คนที่ยืนตำแหน่งยังไม่ดีอย่าง สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์ เนี่ยนะมาเพรส หรือ เนมันย่า มาติช ที่อายุมากและเชื่องข้า ไม่มีทาง สอดคล้องกับคอมเมนท์ของ เจมี่ คาร์ราเกอร์ “เจ้าพ่อ OG.” ว่ามีนักเตะ แมนฯยูฯ 5-6 คนที่จะไม่เข้ากับระบบของ รังนิค เพราะการเทรนให้เข้าเนื้อต้องใช้เวลานาน ไม่มีทางสำเร็จภายในสัปดาห์สองสัปดาห์ ดังนั้นต่อให้ถามอีกกี่ล้านครั้งผมก็จะตอบแบบเดิมว่า “ปีศาจแดง” ควรคุมโซนหรือถอยไปรับเพื่อล่อให้ฝ่ายตรงข้าม (ที่ครองบอลดีกว่า) เป็นฝ่ายชะล่าใจดันไลน์สูงเพื่อใช้งานให้ถูกคนจากจังหวะสวนกลับ ต้องรอจบฤดูกาลเสริมทัพกันใหม่ถึงค่อยเริ่มคิดถึงการเล่นให้ใกล้เคียงกับทีมอย่าง แมนฯซิตี้, ลิเวอร์พูล และ เชลซี การจะยิงประตู “สิงห์บลู” ที่มีเกมรับที่ดีที่สุดในลีก (ก่อนลงเล่นเกมนี้เสียไปแค่ 4) คุณไม่มีทางตั้งเกมบุกใส่ได้เลยครับเพราะเจ้าถิ่นรู้ว่าแข้ง ยูไนเต็ด “อ่อนจัด” ถ้าโดนเพรสตั้งแต่แดนบน การแกะเพรสจะออกแนวโยนขี้ประมาณกูไปไม่ได้ มึงเอาไปที แบ็คโฟว์ไม่มีใครนิ่งเลยโดยเฉพาะ วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ ล่กมาก สำหรับ เชลซี เป็นอะไรที่น่าเขกกะโหลกตัวเองอย่างที่สุดเพราะคุมเกมเหนือกว่าทุกอย่าง ถ้าจำไม่ผิดก่อนหมดครึ่งแรกครองบอลถึง 70% โอกาสเป็น 10 ซึ่งต้องชม ดาบิด เด เกเอา (อีกแล้ว) ที่ยื้อชีวิตผีแดงเอาไว้ในครึ่งแรก ที่ทำให้ผมช็อกและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับทีมที่มีเกมรับดีที่สุดและกับนักเตะในตำแหน่ง DM คือการตัดสินใจดูดบอลลงทั้งๆที่เป็นตัวสุดท้ายของ จอร์จินโญ่ นี่แหละครับ ไม่ว่านักบอลเก่งแค่ไหนเล่นตำแหน่งอะไรจังหวะลูกโด่งจุดพลุและยืนเป็นตัวสุดท้ายเขาโหม่งย้อยสวนกลับเพื่อซื้อเวลาหรือไม่ก็โขกทิ้งออกข้างกันทั้งนั้น เล่นแบบนี้แฟน “สิงห์” เซ็งสิครับ ตัวอย่างวันที่เสมอกับ เบิร์นลีย์ ด้วยสกอร์เดียวกันเมื่อต้นเดือนก็มีให้เห็น โอกาสเกือบ 30 แต่ยิงเข้ากรอบแค่ 4 ความเชื่องช้าในการเปลี่ยนตัวของ ทูเคิ่ล เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เวลามันไม่พอ ทุก action ในสนามช่วงท้ายเกมรีบเร่งร้อนรนไปหมด ติโม แวร์เนอร์ ไม่ควรอยู่ในสนามถึง 81 นาทีและเห็นๆอยู่ว่าตำแหน่งกองหน้าตัวกลางแกเล่นไม่ออกไม่ว่าจะยุคไหนโดยที่ จิมมี่ ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ อดีตกองหน้าบอกวันนี้ต้องมีอย่างน้อย 2 ด้วยซ้ำ โดนนำในนาที 50 ผมคิดว่าอย่างเร็วที่สุดต้องส่ง โรเมลู ลูกากู ลงมาตั้งแต่นาที 60 หรือ อย่างน้อยๆก็ต้องหลัง จอร์จินโญ่ ตีเสมอนาที 69 อาจจะอ้างว่า ลูกากู ไม่ฟิตแต่ผมคิดว่าถ้าไม่ฟิตถึงขนาดไม่พร้อมก็ไม่ต้องใส่ชื่อที่ม้านั่งตั้งแต่แรก อาจจะแค่ match fitness ไม่ถึงซึ่งระดับแข้งทีมชาติ เบลเยียม มีชื่อทั้งทีในช่วงเวลาที่นักเตะคนอื่นไม่ยิงยังไงก็ต้องวัดดวงเร็วกว่านี้ไม่ใช่แค่ 9 นาทีครับ ฝั่ง “ปีศาจแดง” ผมกลับชอบ มาติช ในครึ่งหลังนะ เก็บบอลครองบอลเหนียว นิ่งมาก มีพลิกลอดดากเปลี่ยนจังหวะรับเป็นรุก ในขณะที่ เฟร็ด ที่ เร้ดอาร์มี่ ผมรู้สึกว่าตัวนี้ “มีของ” เพียงแต่ระบบและนักเตะแดนกลางรอบตัวไม่เอื้อให้แกเล่นได้เต็มศักยภาพ อารมณ์คล้ายๆ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน สมัยที่มี ชาร์ลี อดัมส์ หรือ คริสเตียน โพลเซ่น จนได้รับฉายา “อาแปะ” อะไรเทือกนั้น แข้ง แซมบ้า ไล่กวดไล่แย่งบอลดุหลายจังหวะแต่เมื่อหมดหน้าที่ตรงนี้แล้วต้องมีตัวมารับเอาไปทำต่อ ถ้าให้แกทำอะไรมากกว่านี้จะดู “บัดซบ” ไปทันที ดังเช่นลูกที่ตัดสินใจยิงกะให้ข้ามหัวแต่กลายเป็นส่งคืน เมนดี้ นั่นแหละครับ เชลซี อาจจะรู้สึก “เสมอ” เหมือน “แพ้” จากภาพรวมที่ออกมาส่วน ยูไนเต็ด ถ้าบอกก่อนเกมว่าได้ 1 แต้มผมเชื่อว่าทุกคนรีบเอาแน่นอน แต่พิจารณาจากหน้างานทีมเยือนต้องรู้สึกเสียดายจากการถูกตีเสมอไวแค่ 19 นาทีหลัง ซานโช่ ยิง 1-0 และต้องบอกว่าเป็นความโชคร้ายที่ อาร่อน วาน-บิสซาก้า เจตนาดีจะเคลียร์บอลแต่มองไม่เห็นด้านข้างว่ามี ธิอาโก้ ซิลวา แหย่ถึงบอลก่อน แต่กระนั้นการแบ่งแต้มจาก “จ่าฝูง” (ในรูปเกมที่น่าโดนตั้งแต่ครึ่งแรก) ภายใต้สถานะโค้ช “ชั่วคราว” และก่อนบิ๊กแมทช์กับ อาร์เซนอล ในวันอังคารนี้ ถ้าจะขออะไรมากไปกว่านี้คงใจร้ายเกินไปหน่อยแล้วล่ะครับ… สถิติ สถิติ สถิติ เจดอน ซานโช่ (21 ปี 248 วัน) เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดลำดับที่ 3 ที่ยิงประตูใน พรีเมียร์ลีก ให้ แมนฯยูไนเต็ด ที่ สแตมฟอร์ดบริดจ์ โดยก่อนนั้นเป็น พอล สโคลส์ ในปี 1995 (20 ปี 339 วัน) และ ฟิล เนวิลล์ ในปี 1998 (21 ปี 38 วัน) ตลอดเดือนพฤศจิกายน แมนฯยูไนเต็ด มีโอกาสยิงน้อยที่สุดใน พรีเมียร์ลีก แค่ 17 หนในขณะเดียวกันปล่อยให้คู่แข่งมีโอกาสล่อเป้าใส่มากถึง 60 หนซึ่งมากกว่าทีมไหนๆในลีกเช่นกัน 2 เกมในบ้านหลังสุดใน พรีเมียร์ลีก เชลซี มีโอกาสยิงรวมกันมากถึง 49 ประตูและสัมผัสบอลเขตโทษฝั่งคู่แข่งถึง 100 ครั้ง แต่กลับจบลงด้วยผลเสมอ 1-1 ทั้งคู่ “สิงห์บลู” ไม่ชนะ “ปีศาจแดง” ใน พรีเมียร์ลีก เป็นเกมที่ 8 ติดต่อกันและยิงไม่ได้เป็นเกมที่ 5 อีกด้วย จอร์จินโญ่ ยิงจุดโทษ 13 จาก 15 ครั้ง (87%) เป็นค่าเฉลี่ยสูงที่สุดเหนือนักเตะทุกๆคนในประวัติศาสตร์ พรีเมียร์ลีก (นับเฉพาะคนที่ยิง 10+) อิกาย กุนโดกาน ยิง 15 ประตู (ไม่นับจุดโทษ) ใน 37 เกมพรีเมียร์ลีกนับตั้งแต่ออกสตาร์ตซีซั่นก่อน เป็นมิดฟิลด์ที่ยิงประตูมากที่สุดเหนือ บรูโน่ แฟร์นานเดซ (13 ประตูใน 49 เกม) แมนฯซิตี้ ชนะ 11 จาก 13 เกมในการเจอกับ เวสต์แฮม ในทุกรายการโดยที่ไม่แพ้เลยและใน 13 เกมนั้นยิง “ขุนค้อน” มากถึง 35 ลูกและเสียแค่ 6 เท่านั้น เวสต์แฮม ได้แค่ 5 จาก 75 แต้มในเกมที่ต้องบุกมาเยือนทีม “แชมป์” (ชนะ 1 เสมอ 2 แพ้ 22) โดยเกมเดียวที่สามารถโค่นแชมป์เก่าได้คือนัดพบ แมนฯยูไนเต็ด เมื่อเดือนธันวาคม 2001 เอฟเวอร์ตัน ไม่ชนะใครใน พรีเมียร์ลีก มา 7 นัดติดต่อกันแล้ว (เสมอ 2 แพ้ 5) นับเป็นสถิติที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เมษายน 2016 ช่วงที่ โรแบร์โต้ มาร์ติเนซ คุมทีมอยู่ (7 นัดเท่ากัน) เจมี่ วาร์ดี้ ยิงใน พรีเมียร์ลีก ไปแล้ว 93 ประตูนับตั้งแต่อายุขึ้นเลข 3 ขยับขึ้นแท่นแซง เอียน ไรท์ เป็นนักเตะที่อายุ 30 แล้วยิงประตูมากที่สุดไปเรียบร้อย